สรุปบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อการแก้ไขปัญหามหาอุทกภัยของประเทศไทย
____________________________________________
บทบาท
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ ซึ่งถือกำเนิดมาจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็น “หลักเฉลิมพระนครแห่งกรุงสยาม
ดังนั้น ยามที่สังคมมีปัญหา ประเทศชาติต้องการความช่วยเหลือ ประชาชนต้องประสบกับปัญหามหาอุทกภัย ชาวจุฬาฯ ทุกหมู่เหล่า ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ได้แสดงบทบาทเชิงรุกเข้าไปร่วมแก้ปัญหา ร่วมตอบโจทย์ให้กับสังคม เข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด สมกับเกียรติภูมิแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าว เมื่อมีปัญหามหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจรนับแต่เริ่มแรกโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ขั้นเตรียมการก่อนเกิดมหาอุทกภัย
ระยะที่ 2 : การบริหารจัดการช่วงขณะเกิดน้ำท่วม
ระยะที่ 3 : การฟื้นฟูสภาพหลังน้ำท่วม และ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
ระยะที่ 1 : ขั้นเตรียมการก่อนเกิดมหาอุทกภัย
1.1 ได้มีการระดมคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง “อุทกภัย” มาจัดทำเอกสารวิชาการเรื่อง “แนวคิดการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมอย่างยั่งยืน” (Sustainable Flood Protection Concept) ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยมีการสรุปสถานการณ์น้ำท่วมปี 2553 แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในเชิงวิชาการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ส่งเอกสารวิชาการดังกล่าวให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
1.2 จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติ” (Disaster Management Center) เฉพาะกิจ เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการบริหารจัดการ
1.3 แต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” เพื่อกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ประสานงานและประเมินผลการทำงานในแต่ละวัน กรรมการชุดนี้จะประชุมทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 08.00 – 09.30 น.
1.4 มีการกำหนดเจ้าภาพ (อาจารย์ประกบกับนิสิต) ในทุกๆ กิจกรรม
1.5 เตรียมการสื่อสารในภาวะวิกฤตน้ำท่วม โดยแต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารในภาวะวิกฤต เพื่อให้การสื่อสารมีเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน
ระยะที่ 2 : การบริหารจัดการช่วงขณะเกิดอุทกภัย
2.1 การรวบรวมข้อมูล จากนักวิชาการของจุฬาฯ อาสาสมัครที่ลงไปช่วยตามจุดต่างๆ และข้อมูลทุติยภูมิทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
2.2 การวิเคราะห์ข้อมูล จากแหล่งต่างๆ
2.3 การระบุปัญหาจากมหาอุทกภัย ได้เป็น 10 ประเด็นที่มีความสำคัญและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะลงไปให้ความช่วยเหลือ
ปัญหาทั้ง 10 ได้แก่
(1) ปัญหาการขาดแคลนปัจจัย 4 : อาหาร
(2) ปัญหาการขาดแคลนปัจจัย 4 : ที่อยู่อาศัย
(3) การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค
(4) ปัญหาสัตว์เลี้ยง
(5) ปัญหาสัตว์เศรษฐกิจขาดอาหาร
(6) ปัญหาด้านสาธารณสุข
(7) ปัญหาด้านความปลอดภัย
(8) ปัญหาการขนส่งขณะน้ำท่วม
(9) ปัญหาด้านการขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้
(10) การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย
2.4 มาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบมหาอุทกภัย
แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย ได้เป็น 3 กลุ่ม
(1) สำหรับนิสิตและญาติ
(2) สำหรับบุคลากรและญาติ
- มาตรการระยะสั้น
- มาตรการระยะยาว
(3) สำหรับประชาชนทั่วไป
- มาตรการระยะสั้น
- มาตรการระยะกลางและระยะยาว
2.4.1 มาตรการในการให้ความช่วยเหลือนิสิตและญาติ
ก. เงินช่วยเหลือนิสิตที่ประสบอุทกภัย พิจารณาตามกรณีความเสียหายมากน้อย
ข. ทุนการศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
ค. ผ่อนผันการชำระค่าลงทะเบียน
ง. ที่พักพิงชั่วคราว สำหรับนิสิตและญาติ ณ หอพักนิสิต จำนวน 162 ราย
2.4.2 มาตรการในการให้ความช่วยเหลือบุคลากรและญาติ
มาตรการระยะสั้น
ก. เงินยืมฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น โดยให้ยืมรายละไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย มีผู้มีแสงความจำนงกว่า 200 ราย
ข. เงินช่วยเหลือจากสหกรณ์ออมทรัพย์
ค. ที่พักพิงชั่วคราว ที่หอพักจุฬานิเวศน์ หอพักนิสิต อาคารจามจุรี 9 อาคารคณะและสถาบัน ประมาณเกือบ 3,000 ราย
ง. ทำถุงยังชีพและอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานไปให้ตามจุดต่าง ๆ
จ. ส่งรถไปรับออกมาจากพื้นที่น้ำท่วม
มาตรการระยะยาว
ก. การฟื้นฟูสภาพหลังน้ำท่วม โดยแจก“ถุงฟื้นฟูจุฬาลงกรณ์ฯ” ให้ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งเชิญวิทยากรมาให้ความรู้
ข. เงินยืมเพื่อซ่อมแซมบ้าน ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท (ไม่คิดดอกเบี้ย)
2.4.3 มาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วไป
จัดตั้งโครงการ “ชาวจุฬาฯ รวมใจ แก้ไข 10 ปัญหามหาอุทกภัย” ขึ้นกับปัญหาที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว (ตามข้อ 2.3)
1. มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปัจจัย 4 : อาหาร
1.1 ตั้งโรงครัวร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ผลิตอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน ประมาณ 50,000 ชุด / วัน ถ้านับตั้งแต่วันแรก (25 ตุลาคม 2554) ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้ผลิตอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน (รวมทั้งผู้นำมาบริจาค) รวมทั้งสิ้น 1,309,218 ชุด แจกจ่ายไปให้ผู้ประสบอุทกภัยตามจุดต่าง ๆ กว่า 100 จุด
1.2 ผลิตเชื้อเพลิงแข็ง เพื่อการประกอบอาหาร (เช่น หุงข้าว ต้มน้ำ) รวม 4,000 ชุด
1.3 ผลิตข้าวปรุงสุกพร้อมบริโภค บรรจุซองอยู่ได้นาน 3 เดือน จำนวน 5,773 ถุง (ซอง)
1.4 ผลิต “กับข้าว” บรรจุในถุงรีทอร์ท เก็บได้นาน เช่นไก่ผัดกระเทียมพริกไทย น้ำพริกปลากรอบ ปลากรอบสมุนไพร เป็นต้น
2. มาตรการแก้ไขการขาดแคลนปัจจัย 4 : ที่อยู่อาศัย
2.1 จัดตั้ง “ศูนย์พักพิงฯ” (ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย) เพื่อรับประชาชนทั่วไป จำนวนประมาณ 540 คน ซึ่งศูนย์ฯ นี้ได้ประยุกต์องค์ความรู้ และประสบการณ์ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาใช้ในการดูแลผู้พักพิงแบบองค์รวม (Holistic approach) คือดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวในสังคม โดยศูนย์ฯ นี้ “นายบัน คี มูน” (เลขาธิการสหประชาชาติ) ได้แสดงความชื่นชมเมื่อครั้งมาเยือนในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
3. มาตรการแก้ไขการขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค
3.1 มีการจัดทำ “ถุงยังชีพ” กว่า 40,000 ชุด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำไปมอบให้ประชาชนที่เดือดร้อนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
3.2 จัดทำ “ถุงสังฆาภิบาล มหาสังฆทานบารมี” ร่วมกับ Nation Multimedia Group ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศิษยานุศิษย์ของพระธรรมมงคลญาณ จำนวน 32,000 ถุง เพื่อนำไปถว่ายแด่พระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศไทย จำนวน 32,000 รูป จาก 2,500 วัด ที่ประสบปัญหาอุทกภัย
4. มาตรการแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง
4.1 คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับสถาบันอื่นๆ 5 สถาบัน จัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ช่วยน้ำท่วม โดยลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน
4.2 จัดตั้งศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว กระต่าย และหนู) ที่ศูนย์กีฬาในร่มและศูนย์แม้นศรี จำนวนประมาณ 500 ตัว
5. มาตรการแก้ไขปัญหาสัตว์เศรษฐกิจขาดอาหาร
โดยจัดทำโครงการศึกษาพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นต้นแบบของการผลิตอาหารสัตว์แบบครบวงจร ทั้งการผลิต packaging และ logistics เป็นต้น
6. มาตรการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข
6.1 การแก้ปัญหาการขาดความรู้หรือขาดข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้
6.1.1 ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมผ่านสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสารรวมทั้ง Social network ต่างๆ
6.1.2 จัดทำวิดีโอเกี่ยวกับ “โครงการจุฬาฯ รวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” กว่า 20 คลิป อาทิ เทคนิคการหุงข้าวจำนวนมากๆ รวมทั้งการบรรจุและการขนส่ง การบริหารจัดการและการดำเนินการศูนย์พักพิงที่ดูแลผู้พักพิงแบบองค์รวม การบรรจุถุงยังชีพ การผลิตสุขาเคลื่อนที่ การประดิษฐ์เสื้อชูชีพจากขวดพลาสติก ฯลฯ
6.1.3 คณะนิเทศศาสตร์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิด “ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจไทยพีบีเอส – จุฬาฯ” (TPBS – Chula News Center) ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
6.2 การแก้ปัญหาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
6.2.1 จัดหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักจิตวิทยา ไปบริการผู้พักพิงที่ศูนย์พักพิงตลอด 24 ชั่วโมง
6.2.2 จัดหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปให้บริการแก่ประชาชนผู้ประสบภัยตามจุดต่างๆ กว่า 15 จุด
6.3 การแก้ปัญหาเรื่องการขับถ่ายในภาวะน้ำท่วมนิสิตและคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ประดิษฐ์สุขาเคลื่อนที่ โดยดำเนินการผลิตร่วมกับอาสาสมัคร 9,400 ชุด
6.4 มาตรการแก้ปัญหาเท้าเปื่อยจากการย่ำน้ำ
โครงการ “น้ำเอย น้ำใจ” ของคณะเภสัชศาสตร์ได้ผลิตยารักษาเท้าเปื่อย จำนวนกว่า 200,000 ตลับ
6.5 มาตรการแก้ไขปัญหาการถูกยุงกัดโครงการ “น้ำเอย น้ำใจ” ของคณะเภสัชศาสตร์ได้ผลิตยาตะไคร้หอมไล่ยุงเกือบ 50,000 ขวด
6.6 มาตรการแก้ไขปัญหาไม่มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค
คณะวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์ “เครื่องทำน้ำประปาแบบพกพา” จำนวน 3,000 ชุด
6.7 มาตรการแก้ไขปัญหาเชื้อโรคจากน้ำท่วม
6.7.1 คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตน้ำยากำจัดเชื้อรา 2,000 ขวด
6.7.2 คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2,000 ขวด
6.7.3 คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตสเปรย์อนุภาคซิลเวอร์นาโน 2,000 ชุด
6.7.4 คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตเจลอนามัย 1,000 หลอด
6.8 มาตรการแก้ปัญหาจากการถูกปลิงดูด
คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตมีดทองแดงแกะปลิงออกจากผิวหนัง 1,000 เล่ม พร้อมยาทา
6.9 มาตรการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก
คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ผลิตน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์จำนวน 19,000 ขวด
7. มาตรการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย
7.1 แก้ไขปัญหาอันตรายจากไฟรั่ว
คณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตเครื่องมือชุดตรวจสอบไฟรั่ว ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งระดับผิวน้ำและลึกกว่าผิวน้ำ จำนวน 2,500 เครื่อง ร่วมกับมูลนิธิ Miracle of Life
7.2 การแก้ไขปัญหาอันตรายจากการจมน้ำระหว่างการเดินทาง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ประดิษฐ์เสื้อชูชีพจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว จำนวนกว่า 1,000 ตัว โดยร่วมมือกับมูลนิธิ Miracle of Life ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก นายบัน คี มูน (เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อครั้งมาเยือนศูนย์พักพิงจุฬาฯ เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2554)
8. มาตรการแก้ไขปัญหาการขนส่งขณะน้ำท่วม
8.1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ประดิษฐ์แพฉุกเฉิน เพื่อบรรทุกคนและสิ่งของได้มากกว่า 200 กิโลกรัม โดยใช้ถังสีที่ใช้แล้วกว่า 100 ลำ ร่วมกับมูลนิธิ Miracle of Life
8.2 ค่ายยุววิศวฯ ได้ผลิตเรือไฟเบอร์ 30 ลำ
8.3 ได้บริจาคเรือจำนวน 118 ลำให้กับวัดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหสวัด 84 วัด รวมทั้งมอบให้ชุมชนต่างๆ
8.4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ และบริษัทผลิตกระดาษ Double A ได้สร้างสะพานไม้ (แบบสำเร็จรูป) ความยาว 1.6 กิโลเมตร บริเวณทางลงทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ ซึ่งช่วยประชาชนในละแวกนั้นกว่า 20 หมู่บ้าน
9. มาตรการแก้ไขปัญหาด้านการขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการประเมินความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม
9.1 อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาเครื่องมือความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตนเอง (Flood Risk Evaluation System for Thailand หรือ Flood REST)
9.2 ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ สนับสนุนงานเตรียมรับมือภัยพิบัติและกรณีฟื้นฟูวิกฤต Thai Crisis Planner & Reporter เพื่อทราบการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของระดับน้ำ เพื่อเตรียมกลับเข้าไปฟื้นฟูบ้าน
10. มาตรการการบรรเทาทุกข์ผู้ที่ประสบอุทกภัย
10.1 จัดส่งนิสิตและบุคลากรอาสาสมัครลงพื้นที่ เพื่อช่วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรจุและขนกระสอบทราย การบรรจุถุงยังชีพ การช่วยสอนเด็กและการช่วยดูและผู้อพยพตามศูนย์พักพิงต่างๆ กว่า 120 จุด
10.2 ศูนย์หนังสือได้ไปจัดทำ “มุมหนังสือรักการอ่านและบ้านเด็กสัญจร” แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งได้ผ่อนคลายความเครียดและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวม 10 แห่ง
ระยะที่ 3 : การฟื้นฟูสภาพหลังน้ำท่วมและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
1. สร้างสะพานไม้ ความยาว 1.6 กิโลเมตร (กล่าวมาแล้ว) บริเวณทางลงทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ (ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม) และบริษัท ผลิตกระดาษ Double A ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการเดินทางเข้าบ้าน ในหมู่บ้านต่าง ๆ
2. จัดทำคู่มือฟื้นฟูน้ำท่วม ฉบับสามัญประจำบ้าน ร่วมกับ Thai PBS และ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
3. คัดเลือกพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม 2 – 3 พื้นที่ ที่เป็นตัวแทนเขตกรุงเทพมหานคร และเขตต่างจังหวัด เพื่อระดมสรรพกำลัง ความรู้ทั้งหมดของชาวจุฬาฯ (ไม่ใช่เฉพาะด้านกายภาพ หรือ Big Cleaning Day) เพื่อเข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น
• สิ่งแวดล้อม
• ผังเมือง แผนที่
• สาธารณสุข / การศึกษา / สังคม
• การฟื้นฟูอาชีพ
• สัตว์เลี้ยง และสัตว์เศรษฐกิจ
• แผนการระวังภัย เตือนภัย อพยพ
4. ระดมนักวิชาการมาต่อยอดในการจัดทำเอกสารวิชาการ “การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน” เพื่อเสนอผู้เกี่ยวข้องต่อไป