ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
               แผ่นดินไหว เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่

           สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว
               การเกิดแผ่นดินไหวมี 2 สาเหตุใหญ่ สาเหตุแรก เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และแรงระเบิดจากการทำเหมืองแร่ ส่วนสาเหตุที่สองเป็นสาเหตุหลักของการเกิดแผ่นดินไหว โดยเป็นการเกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทั้งนี้ทฤษฎีกลไกของการเกิดแผ่นดินไหวที่ยอมรับกันในปัจจุบันมี 2 ทฤษฎี นอกเหนือจากแผ่นดินไหวจากการไหลของแมกม่าในภูเขาไฟ คือ ทฤษฎีว่าด้วยการขยายตัวของเปลือกโลก โดยแผ่นดินไหวเกิดจากการที่เปลือกโลกเกิดคดโค้งโก่งตัวอย่างฉับพลัน และขาดออกจากกันจึงปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว ทฤษฎีว่าด้วยการคืนตัวของวัตถุ โดยแผ่นดินไหวมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนกล่าวคือ เมื่อรอยเลื่อนเกิดการเคลื่อนที่ถึงจุดหนึ่งวัตถุจะขาดออกจากกันและเสียรูปอย่างมากพร้อมทั้งปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของคลื่นแผ่นดินไหว และหลังจากนั้นวัตถุก็คืนตัวกลับสู่รูปเดิม

           ความร้ายแรงของแผ่นดินไหว
               ความร้ายแรงอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวสามารถบอกได้ในรูปของความรุนแรงและขนาดของแผ่นดินไหว ซึ่งทั้งสองค่านี้แตกต่างกัน และมักจะใช้ค่อนข้างสับสน ขนาดของแผ่นดินไหว (Magnitude) เกี่ยวข้องกับปริมาณของพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา ณ ตำแหน่งศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (Hypocenter) ค่าขนาดแผ่นดินไหวนี้ ผันแปรโดยตรงกับค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหว (Amplitude) ที่บันทึกได้ด้วยเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) คูณกับค่าปัจจัยของระยะทางระหว่างศูนย์เกิดกับสถานีวัดแผ่นดินไหว ดังนั้น ขนาดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งจึงมีได้เฉพาะค่าเดียวเท่านั้น มาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวใช้หน่วยเป็น “ริกเตอร์” (Richter) เป็นตัวเลขที่ใช้แทนหน่วยวัดของพลังงาน และสามารถเปรียบเทียบขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ได้ง่ายไม่ได้เป็นหน่วยวัดเพื่อแสดงผลของความเสียหาย ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity) เป็นมาตราวัดที่แสดงผลกระทบของแผ่นดินไหวที่มีต่อความรู้สึกของคน ต่อความเสียหายของอาคารและสิ่งก่อสร้าง และต่อสิ่งต่างๆ ของธรรมชาติ ความรุนแรงจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบโดยขึ้นอยู่กับระยะทาง สภาพธรณีวิทยา ธรณีโครงสร้าง และภูมิประเทศ จากตำแหน่งเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว (Epicenter) มากน้อยเพียงใด มาตรวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวกำหนดได้จากความรู้สึกของอาการตอบสนองของผู้คน การเคลื่อนที่ของเครื่องเรือน เครื่องใช้ในบ้าน ความเสียหายจากปล่องไฟ จนถึงขั้นที่ทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ มาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวเรียกว่า “มาตรวัดเมอร์คัลลี่” (Modified Mercalli Intensity Scale (MMI) มี 12 ระดับ จากระดับความรุนแรงที่น้อยมากจนไม่สามารถรู้สึกได้ซึ่งต้องตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวเท่านั้น จนถึงขั้นรุนแรงที่สุด จนทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ และใช้หน่วยระดับเป็นตัวเลขโรมัน

General_Information_on_Earthquakes-001

           ที่มา: สื่อเผยแพร่ความรู้ธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี (http://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=6814)